ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินแนวคิดหยิน-หยาง หรือแนวคิดในทำนองเดียวกันมามากแล้ว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้อ่านเกี่ยวกับแนวคิดนี้แล้วก็เข้าใจ แต่เป็นความเข้าใจแบบผิวเผิน คือเข้าใจว่าอ๋อ ทุกอย่างต้องสมดุลกัน ไม่มาก ไม่น้อย แล้วก็เท่านั้น ไม่ได้คิดอะไรต่อ
ตั้งแต่เรียนจบและทำงานมาได้พักหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ใช้เวลาคิดเกี่ยวกับปรัชญาในการใช้ชีวิตของผมอยู่เป็นระยะ ผมคิดว่า การเป็นคนกลม ๆ น่าจะสะท้อนปรัชญาในการใช้ชีวิตของตัวผมเองได้ดีที่สุด
แล้วคนกลม ๆ ของผมเป็นอย่างไร
– ในเรื่องการเรียน การหาความรู้ ผมไม่ชอบการจำกัด หรือตีกรอบทิศทางการเรียนรู้ ออกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ผมเชื่อว่าความรู้และทักษะที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งหมดคือ ศาสตร์ หรือ “science” ที่มันไหลและเอื้อต่อกันทั้งหมด เช่น สมมติอยากจะเป็นเชฟ ความรู้ในเรื่องชีววิทยาของสัตว์ต่าง ๆ จะไปหาเนื้อชนิดนี้ได้จากที่ไหน สัตว์กินอะไร พืชชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอย่างไร ก็สำคัญไม่แพ้ทักษะในการทำอาหาร สมมติอยากจะเป็นนักเขียน หรือนักเขียนบทละคร ความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมจะทำให้เรื่องที่เราเขียนนั้นสมจริงมากขึ้น มีความหมายและเข้าถึงผู้อ่าน ผู้ชมได้มากขึ้น แม้แต่จะเป็นแพทย์ ก็ควรจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย นิติปรัชญา ว่าทำไมคนในสังคมถึงตั้งกฎเกณฑ์กันเช่นนี้
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างกระผีกหนึ่งที่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับผม รอบตัวเราคือศาสตร์ ที่เราไม่ควรจำกัดว่าเราเรียนสายศิลป์ เรื่องนี้เราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
– ถัดมาก็คงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่นกัน ผมคิดว่าการเรียนสำคัญนะ แต่สำคัญเพื่อให้เรามีทักษะในการต่อยอด เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เท่านั้น การเรียนที่ดี น่าจะเป็นการสอนให้เราหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง สอนทักษะการคิด แล้วเราจะไปได้รอบตัว
– เมื่อเติบโตขึ้น ผมพยายามจะใช้ชีวิตแบบกลม ๆ พยายามรู้หลาย ๆ ด้าน และพยายามศึกษาอย่างจริงจังให้รู้ลึกพอสมควร ให้ชีวิตมีทักษะหลาย ๆ แบบ (แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่หลายด้าน แต่ก็พยายามอยู่ครับ 😛) อีกอย่างที่สำคัญที่เรียนรู้จากการใช้ชีวิตอยู่ในหลาย ๆ ประเทศก็คือผมไม่ได้รู้สึกยึดติดกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งเป็นพิเศษ แต่พยายามเอาสิ่งที่คิดว่าโอเค และเหมาะสมกับผม เข้ามาอยู่กับตัว กินอาหารหลากหลาย ไม่ได้คิดว่าที่ไหนแย่ไปเสียหมด หรือดีไปเสียหมด
จะให้นิยามคำว่า “กลม ๆ” ก็คงนิยามออกมายาก แต่ก็เป็นประมาณนี้
ตอนนี้คิดได้ประมาณนี้ อีกสิบปียี่สิบปี จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ผ่านมา ปรัชญานี้ก็ทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้สึกเหนื่อยหรือลำบากเกินไปนักล่ะครับ